หนังสือ

RIGHTS TO CULTURE? LANGUAGE, HERITAGE AND COMMUNITY IN THAILAND

Edited by Coeli Barry

Rights to Culture

หนังสือเล่มนี้รวบรวมงานวิจัยต้นฉบับ ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาระดับเล็กๆ เกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเสมอภาคทางมรดกวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และสิทธิพลเมืองของชนกลุ่มน้อย (ทั้งกลุ่มใหม่และเก่า รวมทั้งกลุ่มที่อยู่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด) ผู้พลัดถิ่น และชุมชนในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้นำเสนอการศึกษาที่ผสมผสานแนวคิดทฤษฎี และข้อมูลเชิงประจักษ์ ของความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและสิทธิในประเทศไทย ประเด็นหัวข้อที่หลากหลายและลักษณะการศึกษาที่ข้ามสาขาวิชาเป็นการเชิญชวนให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ (ตลอดจนความเห็นคัดค้านและสนับสนุน) ในการใช้แนวทางที่อิงความรู้และข้อมูลเชิงสิทธิในการศึกษาประเด็นต่างๆ เช่น การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ระบบตัวเขียนภาษาและนโยบายทางภาษา ความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อย และการเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและความอยู่รอดของกลุ่ม และความเป็นอยู่ที่ดีในพื้นที่แตกต่างกัน

บทหนังสือ

สิทธิและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
อเล็กซานดรา เดเนส และเทียมสูรย์ ศิริศรีศักดิ์
เพื่อตอบสนองต่อข้อวิจารณ์เกี่ยวกับวาทกรรมการบริหารจัดการมรดกแบบผูกขาดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกในหลายๆประเทศจึงได้เริ่มนำแนวทางการจัดการมรดกโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นมาใช้ ประเทศไทยมีเครื่องมือทางกฎหมายที่สนับสนุนการจัดการมรดกแบบมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนในการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน บทความนี้เป็นการศึกษาปราสาทสมัยนครวัดที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพิจารณาปัญหารากฐานในการนำนโยบายสิทธิทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมนี้ไปปฏิบัติ ชุมชนชาวเขมรและลาวที่อาศัยอยู่รอบๆอุทยานมีความผูกพันทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ต่อตัวปราสาทผ่านเรื่องเล่าตำนาน พิธีกรรม และการเดินทางแสวงบุญ อย่างไรก็ตาม ความหมายและความผูกพันนี้ได้ถูกบั่นทอนภายหลังการประกาศให้พื้นที่ปราสาทเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในปี ๒๕๓๑ และการแทรกแซงต่างๆที่ตามมาของหน่วยงานรัฐ บทความนี้โต้แย้งว่าการส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมและการเสริมสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการมรดกนั้นควรจะเริ่มจากการวิเคราะห์ตรวจสอบผลที่ได้รับจากลัทธิชาตินิยมและกระบวนการที่โบราณสถานได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมืองในประเทศไทย

การส่งเสริมความหลากหลายและวัฒนธรรมท้องถิ่นในประเทศไทยกับโอกาสในการท้าทายความไม่เท่าเทียม
ศิริจิต สุนันต๊ะ
บทความนี้สำรวจว่าการหันมาให้ความสำคัญกับชาติพันธ์ุ ความหลากหลาย และวัฒนธรรมท้องถิ่นในประเทศไทยในปัจจุบัน ตอกย้ำและ/หรือท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบในประเทศไทย และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการนี้แสดงถึงความคิดเรื่องสิทธิอย่างไร ชาวบ้านชาวผู้ไทในหมู่บ้านที่ทำการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแสดงตนว่าเป็นพลเมืองชนบทที่ดี คือมีความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาเรียกร้องสิทธิในการพัฒนา โดยเฉพาะสิทธิในการศึกษาที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นช่องทางนำไปสู่การเลื่อนสถานะทางสังคม ความเป็นมาของหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านวัฒนธรรมดีเด่นแห่งนี้ชี้ให้เห็นว่าสิทธิทางวัฒนธรรมอาจเป็นรองสิทธิในการพัฒนา โดยวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การพัฒนามากกว่าที่จะเป็นฐานของการเรียกร้องสิทธิ ในขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิของการมีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็ง พวกเขาแทบไม่ได้ท้าทายลำดับขั้นของวัฒนธรรมจากยุคก่อนทันสมัยที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมของรัฐและอำนาจเชิงสัญลักษณ์

กรุงเทพฯและการอนุรักษ์เขตมรดกที่สำคัญ : โครงการที่ท้าทายและสิทธิที่คลุมเครือ
โฮ คง ชง และพรพรรณ ชินณพงษ์
การพัฒนาและการอนุรักษ์มรดกเป็นโครงการที่ได้รับความนิยมและถูกจัดทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย รวมทั้ง เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ความสวยงามและการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิต ในการดำเนินโครงการนี้อาจจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนท้องถิ่นซึ่งอาจมีวิสัยทัศน์ที่ต่างไปและต้องการมีส่วนร่วมในขั้นตอนการพัฒนา ปัญหานี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ามรดกที่กำลังถูกพัฒนาอยู่นั้นเป็นมรดกของใคร และเป็นประเด็นทางสิทธิวัฒนธรรมที่น่าพิจารณาไตร่ตรอง บทความนี้นำเสนอกรณีศึกษาของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเขตมรดกที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยตรวจสอบแผนนโยบายของรัฐบาลและการร้องเรียกสิทธิมรดกของชุมชนท่าเตียนและชุมชนป้อมมหากาฬ บทความนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังประเมินลักษณะของการเรียกร้องสิทธิมรดกของชุมชนทั้งสองชุมชน เพื่อชี้ถึงปัญหาของการเรียกร้องสิทธิที่เป็นแบบอุดมคติ การดำเนินงานอนุรักษ์ควรคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการเรียกร้องมรดกของชาติและมรดกชุมชน โครงการอนุรักษ์นี้เป็นความใฝ่ฝันที่ท้าทายของกรุงเทพฯ และของประเทศ ปัญหาสำคัญก็คือในวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเขตมรดกนี้จะมีที่สำหรับชุมชนต่างๆ ซึ่งมีประวัติความผูกพันกับเกาะรัตนโกสินทร์หรือไม่

รัฐวิถีในอักขระ : สิทธิทางภาษา มรดก และทางเลือกในการใช้ระบบตัวเขียนภาษาเขมรท้องถิ่นในประเทศไทย
ปีเตอร์ เวล และภาณุวัฒน์ พันธโคตร์
โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาความสามารถในการอ่านและเขียนภาษาเขมรท้องถิ่นตอนเหนือ (เขมรสุรินทร์) ในพื้นที่ภาคอีสาน และความเชื่อมโยงกับสิทธิทางวัฒนธรรมและมรดก เมื่อไม่กี่ช่วงอายุคนที่ผ่านมา ภาษาเขมรตอนเหนือได้กลายเป็นภาษาพูดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการใช้การอ่านและเขียนจำกัดอยู่แค่การใช้ประโยชน์ในทางศาสนาซึ่งรู้กันเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ปัจจุบันนี้ ภายใต้โฉมหน้าของการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่เหล่าผู้พูดภาษาถิ่นต้องหันมาพูดภาษาประจำชาติ ได้เกิดความพยายามที่จะฟื้นฟูและรักษาภาษาและวัฒนธรรมเขมรตอนเหนือไว้ ซึ่งการอ่านออกและเขียนภาษาพื้นเมืองได้นั้นกลายมาเป็นประเด็นสำคัญในความพยายามดังกล่าว ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ อักขระใดที่ควรใช้ในการเขียนภาษาเขมรตอนเหนือ อักขระเขมร? (ดังที่ใช้ในแถบประเทศเพื่อนบ้านของประเทศกัมพูชา) หรืออักขระไทยประยุกต์? ประเด็นคำถามที่ดูเหมือนจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายการละเมิดสิทธิ์ใดๆเกี่ยวกับระบบตัวเขียนนี้ ได้เผยให้เห็นถึงความเข้าใจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของ อัตลักษณ์ สิทธิ และมรดก และยังได้แสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนและความท้าทายของพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย

การเรียกร้องสิทธิและการอ้างวัฒนธรรมในการปกป้องสิทธิมนุษยชน : การเคลื่อนไหวของป่าชุมชนในประเทศไทย
เบญจรัตน์ แซ่ฉั้ว
งานวิจัยนี้ศึกษาบทบาทของวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิของป่าชุมชนในประเทศไทย กลุ่มเคลื่อนไหวนี้ยืนกรานว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างกลมเกลียวกับธรรมชาติ และยังใช้วาทกรรมสิ่งแวดล้อมและอัตลักษณ์การอนุรักษ์ป่าเพื่อท้าทายอำนาจการจัดการป่าและการขับไล่ชุมชนท้องถิ่นออกจากพื้นที่คลุมครองป่าของรัฐ ผลจากการศึกษาชุมชนสองชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือชี้ให้เห็นว่า การนำกรอบแนวคิดของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้นี้อาจทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวถูกตีกรอบจำกัดอยู่ในความหมายที่รัฐกำหนดในเรื่องการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่าที่จัดให้ ซึ่งทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ทำการเกษตรเพราะกลัวว่าจะเกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่า ดังนั้นจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความต้องการของสมาชิกในกลุ่มได้ อาทิเช่น ปัญหาการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการเกษตรแบบการค้า

สิทธิและวัฒนธรรมเพื่อชนกลุ่มน้อยในกรุงเทพฯ
ไมค์ เฮยส์ และแมทธิว มูลเลน
โครงการนี้เป็นการสำรวจศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่อำนวยให้ชนกลุ่มน้อยในเมืองสามารถสร้างการยอมรับในการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของพวกเขา โดยเปรียบเทียบสถานะของสิทธิทางวัฒนธรรมในกลุ่มคนส่วนน้อยสามกลุ่มในกรุงเทพฯ การเลือกกลุ่มเหล่านี้ก็ด้วยสาเหตุของการมีความหลากหลาย ประการแรก ชุมชนซิกช์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงและมีการยอมรับในวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างสูง ประการที่สองคือชุมชนมอญ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับประเทศไทยมายาวนาน แต่ก็ยังถูกกีดกันลิดรอนในบางเรื่องเนื่องจากสถานะของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพ และประการสุดท้ายคือชุมชนคนแอฟริกันตะวันตก ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ล่าสุด คนกลุ่มนี้ถูกเหยียดและลิดรอนอย่างมาก และไม่สามารถที่จะปฏิบัติวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเต็มที่

พันธะที่น่าอึดอัด : วิกฤตทางการเมืองและวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย, พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง ๒๕๓๑
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานประจำปีว่าด้วยสถานการณ์และความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนต่อสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ ในช่วงระยะเวลากว่าหกสิบปีหลังจากการเสนอรายงานฉบับแรก ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง นอกจากนี้คำจำกัดความของคำว่าสิทธิมนุษยชนและการจัดลําดับความสําคัญของปัญหาสิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติก็ได้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บทความนี้เป็นการศึกษารายงานประจำปีว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งจัดพิมพ์โดยสหประชาชาติและเอกสารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อทำความเข้าใจพันธะผูกพันของประเทศไทยที่มีต่อบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งยังตรวจสอบบทบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้เขียนขึ้นในรายงานประจำปี รวมทั้งสิ่งที่ขาดหายไปจากรายงานด้วยเช่นกัน งานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดของบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากลและกฎการปฏิบัติของประเทศไทย

“คนค้ายาเสพติด คือคนที่ทรยศต่อชาติ” : ความเป็นพลเมืองและสถานภาพทางสังคมที่หยุดนิ่งของชนกลุ่มน้อยชาวเขาในประเทศไทย
มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ
เป็นเวลากว่าห้าทศวรรษที่ชนกลุ่มน้อย “ชาวเขา” ซึ่งอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้ตกเป็นเป้าหมายการพัฒนาของรัฐ การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภูเขาสูง “ทุรกันดาร” การปลูกฝิ่น และการทำเกษตรแบบที่ทางการเรียกว่า “ไร่เลื่อนลอย” ตลอดจนการอาศัยทำกินในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการถูกกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำให้ชาวเขาถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐมองว่ามีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังที่จะ “พัฒนา” และ “เปลี่ยนแปลง” กลุ่มชนกลุ่มน้อย “ชาวเขา” ให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและมีความจงรักภักดีต่อชาติ บทความนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์กระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองในกลุ่มชาวเขา โดยผ่านกลไกสำคัญของรัฐคือสัญชาติและการศึกษา ผลของการวิจัยชี้ให้เห็นว่าวาทกรรรมเรื่องความเป็นชาติที่เน้นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แห่งความเป็น “ไทย” หากในขณะเดียวกันกลับกีดกันไม่ยอมรับอย่างเต็มรูปแบบถึงความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ ความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆในประเทศนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวเขาไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตทางสังคม การเมืองในฐานะพลเมืองของประเทศได้อย่างเต็มที่

Comments are closed.