“การจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรมมีชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผืนแผ่นดินใหญ่”

ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ (ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ผลงานฉบับเต็มสามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/Patcharawee_Tunprawat_Doctor/Fulltext.pdf

วิทยานิพนธ์ปี 2009 ของดร.พัชรวีร์ชิ้นดังกล่าวเป็นวาระของการประชุมเดือนนี้ โดยเฉพาะบทที่ 1, 2 และ 7

งานวิจัยเกี่ยวกับ “การจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรมมีชีวิต” ชิ้นนี้เสนอให้เห็นความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากรูปแบบจำนวนมากที่ใช้อยู่นั้นอิงอยู่กับระบบคิดที่ล้าหลังและได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากเกินไป งานชิ้นนี้ใช้วิธี “มองไกล” (long view) ในการศึกษามรดกวัฒนธรรม เริ่มจากการประเมินแนวทางการปฏิบัติในยุคก่อนการล่าอาณานิคม แนวทางการปฏิบัติเหล่านั้นได้รับอิทธิพลและแทรกอยู่ในโลกทัศน์แบบพุทธศาสนา อันเป็นตัวกำหนด “วิธีที่คนโบราณมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุสถานที่หลงเหลือมาจากยุคก่อน” วัตถุสถานที่ได้รับการอนุรักษ์นั้นคือวัตถุสถานที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ นั่นคือถ้าอนุรักษ์ก็จะได้บุญ

เมื่อการล่าอาณานิคมของอำนาจจากยุโรปตะวันตกมาถึง มุมมองต่อคุณค่าและความหมายของวัตถุสถานที่เป็นมรดกก็เปลี่ยนไป ดร.พัชรวีร์กล่าวว่าแม้สยามจะไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้น “โครงสร้างของการจัดการมรดกวัฒนธรรมก็ถูกวางโดยชาวตะวันตก” นักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกศึกษา “โบราณวัตถุสถาน” โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแยกมันออกมาจากค่านิยมทางจิตวิญญาณและศาสนาของชาวพื้นเมือง นั่นเป็นแนวทางที่นักโบราณคดีใช้ในการศึกษาสถานที่อย่างนครวัดหรือจำปา สถานที่และวัตถุศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นแหล่งโบราณคดี ที่สำคัญคือชุมชนพื้นเมืองถูกตัดขาดจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่บางครั้งก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจของผู้ล่าอาณานิคมมีเหนือผู้ถูกล่าอาณานิคม ตัวอย่างที่เห็นชัดตัวอย่างหนึ่งคือการสร้างนครวัดจำลองที่ปารีสในงานจัดแสดงเกี่ยวกับอาณานิคม (Exposition Coloniale)

เมื่อประเทศที่ถูกล่าอาณานิคมได้รับเอกราชในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โบราณคดีและการตีความอดีตได้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติและความรักชาติ ผู้นำประเทศใหม่ในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ “โบราณวัตถุสถาน” เดิมในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศใหม่ เมื่อมีลัทธิชาตินิยม การทำให้มรดกวัฒนธรรมกลายเป็นสมบัติของชาติก็ตามมาทั้งในประเทศคอมมิวนิสต์และในประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์บนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรดกวัฒนธรรมกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติ

การเมืองยุคสงครามเย็นทำให้การติดต่อกันระหว่างประเทศใต้การควบคุมหรือใต้อิทธิพลของทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยความยากลำบาก กระนั้นก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการมรดกวัฒนธรรมขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดมากมายทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ภายหลังความเสียหายที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป กฎบัตรเวนิซ (The Venice Charter) ในปี 1964 ก็เกิดขึ้นเพื่อส่งสัญญาณว่าจะมีการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ คำว่า “มรดกวัฒนธรรม” (Heritage) มีใช้ครั้งแรกในแนวคิดการรับมรดกวัฒนธรรมโลก (Adoption of World Heritage) ในปี 1972 และในยุคดังกล่าวก็ได้มีการตั้งสถาบันต่างๆ ขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์และจัดการมรดกวัฒนธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ การศึกษาวิจัยในแนวทางแบบหลังอาณานิคมได้เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรม โบราณคดี และมานุษยวิทยา และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถเห็นได้อย่างอ้อมๆ อย่างน้อยก็ในขอบเขตการศึกษาของโบราณคดีสาธารณะ (หรือที่เรียกว่าโบราณคดีชุมชน) แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคทศวรรษ 1970 จากความเป็นห่วง “ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีจำกัดและสร้างใหม่ไม่ได้” ที่ถูกคุกคามโดยความก้าวหน้า และถูกเร่งโดยข้อถกเถียงเรื่องแนวคิดหลังอาณานิคม สิทธิทางวัฒนธรรม รวมไปถึงสิทธิของชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมือง

ท้ายสุด งานวิจัยสรุปด้วยการเปรียบเทียบแนวทางต่างๆ ในการจัดการมรดกวัฒนธรรมในปัจจุบัน โดยเสนอกรณีศึกษาและข้อแนะนำสำหรับการพัฒนาแนวทางที่ดีที่สุดต่อไป แนวทางแรกคือแนวทางดั้งเดิม (Conventional Approach) แนวทางนี้ให้ความชอบธรรมแก่นักโบราณคดีในการเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม กีดกันชุมชนในพื้นที่และลดทอนคุณค่าความหมายอื่นๆ ของมรดกดังกล่าวที่ไม่ใช่ความหมายที่นักโบราณคดีมอบให้ แนวทางดังกล่าวยังถูกวิจารณ์ว่าต้องใช้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐเป็นจำนวนมาก

 

แนวทางที่ต่างออกไปคือแนวทางอิงค่านิยม (Values-based Approach) แนวทางนี้จะเชื่อว่าค่านิยมเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเอง และยอมรับว่าความเห็นของคนในท้องถิ่นก็มีความสำคัญ ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะความเห็นของนักโบราณคดีเท่านั้น แนวทางนี้สนับสนุนการบูรณาการความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ เข้ามาในกระบวนการวางแผนด้วย

กระนั้นในมุมมองของผู้เขียน แนวทางนี้ยังเป็นวาทกรรมมรดกวัฒนธรรมที่ต้องมีการอนุญาต (Authorized Heritage Discourse (AHD)) อย่างแอบแฝงในบางครั้ง เนื่องจากกระบวนการนั้นมักจะอยู่ในรูปแบบบนลงล่าง การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังเป็นของผู้มีอำนาจเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรม และปัญหาเกี่ยวกับการดูแลรักษาอย่างยั่งยืนก็ยังคงมีอยู่

ส่วนในแนวทางมรดกวัฒนธรรมมีชีวิต (Living Heritage Approach) ผู้มีอำนาจจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวก และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น แนวทางนี้สร้างภาระให้ทางรัฐน้อยกว่าแนวทางอื่น และเอื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้เนื่องจากมองการจัดการมรดกวัฒนธรรมว่าเป็นหนทางในการจัดการการเปลี่ยนแปลงและ “อนุรักษ์ความต่อเนื่อง”

 

Comments are closed.