เขียนโดย เคท เฮนเนสซี่ ชาร์ลส์ อาร์โนลด์ ยาน วอลเลซ และ นิโคลัส จาคอบเซน
เข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
http://www.museumsandtheweb.com/mw2012/papers/virtual_repatriation_and_the_application_progr
แปลโดย อธิป จิตตฤกษ์
งานวิชาการชิ้นนี้เขียนขึ้นกลุ่มนักมานุษยวิทยาที่ประกอบด้วย เคท เฮนเนสซี่ (Kate Hennessy) (วิทยาลัยศิลปะและเทคโนโลยีเชิงปฏิสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์, ประเทศแคนาดา), ชาร์ลส์ อาร์โนลด์ (Charles Arnold) (มหาวิทยาลัยแคลการี่, ประเทศแคนาดา), ยาน วอลเลซ (Yan Wallace) และนิโคลัส จาคอบเซน (Nicholas Jakobsen) (พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย, ประเทศแคนาดา) มันเน้นเกี่ยวกับกับมโนทัศน์ “การส่งคืนความรู้เสมือน” ผ่านโครงการส่งคืนความรู้ให้ชาวอินูไวอาลูอิท อันเป็นโครงการที่นำไปสู่ความร่วมมือกับสถาบันสมิธโซเนี่ยน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โครงการนี้มีจุดมุ่งเน้นเพื่อการฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมที่ได้รับการค้นพบที่บริเวณแม่น้ำแอนเดอร์สันในช่วงทศวรรษที่ 1860 โดยพ่อค้านามโรเดอร์ริค แมคฟาร์แลนด์ (Roderick MacFarlane) โบราณวัตถุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาที่ (สถาบันประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสมิธโซเนี่ยน) และโครงการนี้ก็คือการจัดทำเอกสารด้านมรดกทางวัฒนธรรมในรูปแบบคลังเอกสารดิจิทัลไปยังชุมชนดั้งเดิมของชาวชุมชนอินูไวอาลูอิทที่มาจากแถบอาร์คติคตะวันตก
ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทำให้นักวิจัยได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการสร้างและจัดทำคลังเอกสารด้านมรดกวัฒนธรรมและทำให้พิพิธภัณฑ์รวมถึงสถาบันทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ ได้แปลงคลังสะสมด้านชาติพันธุ์วิทยามาเป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อให้ชุมชนต้นกำเนิดและสาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย กระบวนการเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลนอกจากจะทำให้เสมือนมีการรวบรวมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกันแล้ว มันยังเปิดโอกาสให้มีการคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุเหล่านั้นซึ่งในปัจจุบันนี้ถูกแยกออกมาจากบริบทดั้งเดิมของมัน มีความพยายามในการสร้างเครือข่ายความรู้อันหลากหลายของโบราณวัตถุเหล่านี้โดยความร่วมมือกันระหว่างชุมชนต้นกำเนิดของวัตถุที่ได้รับการปกปักรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ นักวิจัย และภัณฑารักษ์ มันเปิดโอกาสให้มีการสร้างภาพตัวแทนทางเลือกให้กับมรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ชุมชนต้นกำเนิดที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเครือข่ายการสร้างความรู้ทางเลือกโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มาก่อนเนื่องจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ นอกจากนี้มรดกวัฒนธรรมจำนวนมากก็ถูกรวบรวมมาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากชุมชนต้นกำเนิดและในหลายๆ ครั้งวัตถุเหล่านี้กูได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ด้วยข้อมูลที่ผิดด้วย การเข้าถึงแบบเสมือนจริงด้วยกระบวนการดิจิทัลเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนในการผลิตข้อมูลทางด้านมรดกทางวัฒนธรรมนอกเหนือไปจากที่ผลิตมาจากคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ด้านพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งยังสามารถเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพของบุคลากรในสถาบันต่างๆ กับความทรงจำและความรับรู้ของชุมชนต้นกำเนิดเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมของพวกเขาเอง ปรากฏการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกับการควบคุมและป้องกันการผลิตเอกสารเพราะมันเป็นการท้าทายระบบการถือกรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ รวมถึงทรัพย์สินเชิงวัฒนธรรมในปัจจุบัน
โครงการส่งคืนความรู้ชาวอินูไวอาลูอิทมันวางอยู่ในบริบทที่เคลื่อนเปลี่ยนไป มันเป็นการย้ายคลังสะสมแมคฟาร์แลนด์จากสถาบันสมิธโซเนี่ยนไปในพื้นที่เสมือนจริง พร้อมกับที่มันพยายามในการเสนอและฟื้นชีวิตให้กับคลังสะสมผ่านมุมมองของชาวอินนูไวอาลูอิทในฐานะที่เป็นความรู้และแนวทางปฏิบัติทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของชาวอินูไวอาลูอิท
ในปี 2009 ผู้อาวุโสที่เป็นตัวแทนชาวอินูไวอาลูอิทคนหนึ่งและเยาวชนจากพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอินูไวอาลูอิทรวมถึงกลุ่มนักมานุษยวิทยาและผู้ผลิตสารคดีจากสมาคมการสื่อสารอินูไวลูอิทได้เดินทางไปสถาบันประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสมิธโซเนี่ยนเพื่อตรวจดูและทำเอกสารเกี่ยวกับคลังสะสมแมคฟาร์แลนด์ซึ่งมีวัตถุทางวัฒนธรรมมากกว่า 5,000 ชิ้น ที่จนถึงปัจจุบันนี้ชาวอินูไวอาลูอินหลายชั่วคนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงโบราณวัตถุเหล่านั้นได้ ทะเบียนดิจิทัลของคลังสะสมชิ้นหนึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามอย่างที่งานชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นก็คือ ข้อมูลโบราณวัตถุที่ได้รับการแสดงเป็นที่รับรู้น้อยมากและงานนำเสนอหลายชิ้นก็มีการจัดประเภทที่ล้าสมัยเช่นในกรณีของ “เอ็สควีมอ” (Esquimaux) ร่องรอยการมาเยือนทั้ง 5 วันของของผู้แทนได้รับการบันทึกผ่านทางวิดีโอ ภาพถ่ายและภาพวาด และได้รับการจัดเก็บไว้ที่ศูนย์ส่งเสริมพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนี่ยนพร้อมด้วยภัณฑารักษ์ประจำศูนย์นามสตีเฟ่น โลริง (Stephen Loring) ผู้อาวุโสชาวอินูไวอาลูอิทหลายคนสามารถฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษของตนผ่านลายเย็บที่พบบนโบราณวัตถุซึ่งได้รับการจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อปาร์กาส์ รองเท้าบูท นวม ธนูล่าสัตว์ และเครื่องมือพื้นเมืองอีกหลายชิ้น และผู้อาวุโสก็มองสิ่งเหล่านี้ก็ในฐานะที่เป็นแนวทางปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชาวอินูไวอาลูอิทร่วมสมัย มากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่ใช้สร้างอดีตของชาวอินูไวอาอิทขึ้นมาใหม่ การเยือนในคราวนั้นทำให้มีการผลิตสารคดีโดยสมาคมการสื่อสารอินูไวลูอิท ซึ่งมันก็ได้รับการกำกับโด เบรทท์ เพอร์ดี้ (Brett Purdy) ในปี 2011 เนื้อหาของมันนำเสนอเรื่องราวของชาวอินูไวอาลูอิทที่ค้นพบโบราณวัตถุจำนวนหลายชิ้นพร้อมการที่พวกเขาสะท้อนความคิดถึงความสำคัญของชุมชนชาวอินูไวอาลูอิทในยุคปัจจุบัน วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการสร้างเว็บไซต์ “อินูไวอาลูอิท ลิฟวิ่ง ฮิสทรี่” โดยอาศัยความร่วมมือของชาวอินูไวอาลูอิทและการเปลี่ยนบริบทใหม่ให้คลังสะสมแมคฟาร์ลินไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะเสมือนจริงพร้อมจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมมุมมองของชาวอินูไวอาลูอิท
งานวิชาการชิ้นนี้ทำการย้อนรอยกระบวนการในการผลิตแบบมีส่วนร่วมทั้งหมดอันเป็นตัวอย่างใน “การทำการส่งคืนแบบเสมือนจริง” ผ่านการนำข้อมูลดิจิทัลของสถาบันสมิธโซเนี่ยนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุของชาวอินูไวอาลูอิท และมันก็เป็นการแสดงสิทธิของชุมชนชาวอินูไวอาลูอิทในการควบคุมการเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมที่นอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ของทางสถาบัน เคท เฮนเนสซี่และนักมานุษยวิทยาอีกหลายคนได้ร่วมกับภัณฑารักษ์ของสถาบันสมิธโซเนี่ยนและนักพัฒนาจากเครือข่ายให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัย (Reciprocal Research Network1) โดยการใช้แอพพลิเคชั่นโปรแกรมมิ่งอินเตอร์เฟซของเครือข่ายให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัย (Application Programming Interface2) เพื่อให้คลังสะสมแมคฟาร์แลนได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปแบบดิจิทัลโดยผ่านเครือข่ายให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัย และเพื่อสร้างบริบทใหม่ให้กับข้อมูลดิจิทัลชิ้นนี้อีกครั้งโดยไม่มีข้อจำกัดด้วยการนำเสนอที่เสมือนจริงผ่านทางเว็บไซต์ใหม่ที่กำลังจะได้รับการเปิดตัวในต้นปี 2012 (สามารถเข้าถึงได้ที่ http://inuvialuitlivinghistory.ca/) คำบรรยาย การจัดประเภทและหมวดหมู่จากทะเบียนฉบับก่อนหน้านี้ที่ได้รับการจัดทำโดยภัณฑารักษ์ได้รับการบันทึกใหม่ ถึงตอนนี้โบราณวัตถุจะได้รับการนำเสนอด้วยภาษา “ซิกลิทัน” (ภาษาท้องถิ่นของภาษาอินูไวอาลูอิท) พร้อมกันนี้เรื่องเล่าจากผู้อาวุโสชาวอินูไวอาลูอิทเกี่ยวกับวัตถุทางวัฒนธรรมก็ได้รับการรวมรวมจากการเก็บข้อมูลภาคสนามจากชุมชนที่เป็นลูกหลานของชาวอินูไวอาลูอิทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (หรือเป็นที่รับรู้กันว่า “การตีความหมายแบบชุมชน”) และนอกจากนี้ก็มีคำบรรยายที่เกี่ยวข้องจากผู้สังเกตการณ์จากภายนอกชุมชนที่ได้รับการบันทึกในเอกสารทางประวัติศาสตร์ วิดีโอ ภาพถ่าย และภาพวาดต่างๆ
ดังนั้น ‘อินูไวอาลูอิท ลีฟวิ่ง ฮิสทรี่’ จึงนับได้ว่าเป็นการถือกำเนิดจากพื้นที่บ่มเพาะความรู้ที่มีวิวัฒนาการที่เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอประวัติของชาวอินูไวอาลูอิทในแนวทางที่ต่างจากกระแสหลักผ่านการไหลบ่าของเรื่องเล่าต่างๆ ที่ท้าทายเรื่องเล่าดั้งเดิมจากสถาบันต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความรับผิดชอบของทางพิพิธภัณฑ์ในการทำให้คลังความรู้ของตนมีความเข้าใจง่ายและสามารถสร้างประโยชน์กับชุมชนต้นกำเนิด มุมมองใหม่ๆ ที่ได้รับการนำเสนอผ่านบทความนี้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามไปยังผลของ กิจกรรมด้านพิพิธภัณฑ์ และการจัดทำเอกสารสำหรับชุมชนต้นกำเนิดที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้วความสำเร็จที่แท้จริงของการส่งคืนแบบเสมือนจริงก็คือการเปิดโอกาศให้ชุมชนต้นกำเนิดสามารถในการนำเสนอภาพตัวแทนและความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมของตนเองได้อีกด้วย