เสนอต่อกรรมการซีอีอาร์ดี รายงานการประชุมครั้งที่แปดสิบเอ็ด จัดโดยคณะกรรมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination) ณ ปราสาทวิลสัน กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 6 ถึง 31 สิงหาคม 2012
เข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
http://www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/cerds81.htm
รายงานการประชุมครั้งที่แปดสิบเอ็ด จัดโดยคณะกรรมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination) ณ ปราสาทวิลสัน กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 6 ถึง 31 สิงหาคม 2012 เพื่อตรวจสอบความพยายามในการกำจัดการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลออสเตรีย เอกวาดอร์ ฟิจิ ลิคเตนสไตน์ สาธารณรัฐเกาหลี เซเนกัล ทาจิกิสถาน และไทย ประเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ 175 ประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบสากล (International Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination) ที่เริ่มมีขึ้นในปี 1965 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1969 ข้อตกลงดังกล่าวมีผลในประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2003 และในการประชุมเมื่อเดือนสิงหาคม 2012 นี้เองประเทศไทยก็ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการเป็นครั้งแรก
รายงานฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ของกรรมาธิการระดับสูงเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่ลิงค์ http://www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/cerds81.htm
เนื้อหาบางส่วน
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
2. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (Network of Indigenous Peoples in Thailand) ได้บรรยายภูมิหลังของชนพื้นเมืองในไทยไว้ในวารสารรายปีของกลุ่มงานนานาชาติเพื่อกิจการของชนพื้นเมือง (International Working Group for Indigenous Affairs (IWGIA)) ประจำปี 2008 ชนพื้นเมืองในไทยมักถูกเรียกว่า “กลุ่มชนเขา” หรือ “ชนกลุ่มน้อย” กลุ่มชาติพันธุ์สิบกลุ่มที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการก็มักเรียกรวมๆ ว่า “ชาวเขา” กลุ่มชนดังกล่าวและกลุ่มอื่นๆ อาศัยอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนไม่กี่กลุ่มที่เหลือคือกลุ่มชนพื้นเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือ ชุมชนพื้นเมืองชาวประมง และกลุ่มชนเก็บของป่าล่าสัตว์กลุ่มเล็กๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ปี 2002) จำนวนประชากรที่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการของ “กลุ่มชนเขา” คือ 925,825 คน และกลุ่มคนดังกล่าวกระจายอยู่ในยี่สิบจังหวัดทางภาคเหนือและตะวันตกของประเทศ ส่วนตัวเลขจำนวนชนพื้นเมืองทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นยังไม่มีข้อมูล
3. ชนพื้นเมืองในประเทศไทยแบ่งได้เป็นห้ากลุ่มภาษา ได้แก่ ไท-กะได (เช่นกลุ่มคนไทหลายกลุ่มในภาคเหนือ ชาวแสก และชาวฉานหรือที่เรียกว่าไทใหญ่) ทิเบต-พม่า (เช่น อาข่า กะเหรี่ยง ลาหู่ ลีซู) มอญ-เขมร (เช่น ลัวะ ขมุ กุย มลาบรี) ม้ง-เมี่ยง (ม้ง เมี่ยน) และมาลาโย-โพลีเนเซีย (มอแกน)
4. กลุ่มชาติพันธุ์สิบกลุ่มที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็น “ชาวเขา” ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือและทางตะวันออกของประเทศนั้นได้แก่อาข่า ม้ง ถิ่น กะเหรี่ยง ขมุ ลาหู่ ลีซู ลัวะ เมี่ยน และมลาบรี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนกลุ่มเล็กๆ ทางภาคเหนือที่เรียกกันว่ากลุ่มชาวไท (ได้แก่ไทลื้อ ไทขึน ไทยอง) คะฉิ่น และฉาน
5. การแบ่งพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคอาณานิคมและในช่วงการปลดปล่อยอาณานิคมทำให้ชนพื้นเมืองหลายกลุ่มที่อาศัยในพื้นที่สูงและในป่าห่างไกลถูกแบ่งออกจากกัน กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอาศัยอยู่บนที่ราบสูงโคราชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในบริเวณพรมแดนลาวและกัมพูชา และคนกลุ่มเหล่านี้ก็มีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกับกลุ่มชนพื้นเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย และมีกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไทอยู่หลายกลุ่ม (แสก พวน ภูไท และไทดำ) ชาวกุยที่พูดภาษากลุ่มมอญ-เขมร (หรือที่เรียกว่ากวยหรือส่วย) และชาวโซ่ ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้จำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนที่เรียกว่าญัฮกุร เนียะกุล หรือชาวบน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชัยภูมิและพูดภาษามอญโบราณ
8. ในภาคใต้ของประเทศไทย ติดกับพรมแดนมาเลเซีย มีกลุ่มคนที่จัดอยู่ในกลุ่มนิกริโตอาศัยอยู่ นั่นคือชาวโอรังอัสลี ในประเทศไทยบางครั้งพวกเขาจะถูกเรียกว่าเงาะ เงาะป่า หรือซาไก ซึ่งเป็นชื่อที่มีนัยยะแง่ลบในมาเลเซียแต่มีความหมายค่อนไปทางกลางๆ ในไทย และบางครั้งพวกเขาก็ถูกเรียกว่ามันนิ ซึ่งเป็นชื่อทั่วไปสำหรับโอรังอัสลีในมาเลเซีย
9. ในบริเวณชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่มาเลเซียจนถึงกลุ่มเกาะมะริดของพม่า มีชาว “ยิปซีทะเล” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ชาวเล” อาศัยอยู่ ส่วนในภาคใต้บริเวณเกาะภูเก็ตและพรมแดนมาเลเซีย มีชาวอูรักลาโว้ยอยู่ทางเหนือของเกาะภูเก็ต และในกลุ่มเกาะมะริดของพม่าก็มีชาวมอแกลนและมอแกนอาศัยอยู่
การเหมารวมและการเลือกปฏิบัติ
11. สำหรับคนไทย คำว่า “ป่า” มีนัยยะของความ “เถื่อน” ซึ่งตรงข้ามกับความ “มีอารยธรรม” การเริ่มใช้คำว่าชาวเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติ ที่ซึ่งอัตลักษณ์ของชาติและนิยามของ “ความเป็นไทย” นั้นผูกติดกับคุณสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ภาษาไทย และสถาบันกษัตริย์ การเหมารวมในด้านลบที่สร้างภาพให้ชนเขากลายเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า ผู้ปลูกฝิ่น และผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์นั้นทำให้พวกเขาถูกนิยามให้ “ไม่เป็นไทย” ขาดการพัฒนา และเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนคำเรียกอื่นๆ ที่ใช้กันในประเทศไทยนั้นมักเป็นคำที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic groups) ชนกลุ่มน้อย (ethnic minorities) เป็นต้น แต่ (อดีต) กลุ่มคนหาของป่าล่าสัตว์ในภาคใต้ก็ยังถูกเรียกด้วยชื่อ “ซาไก” ที่มีนัยยะดูถูก (เนื่องจากมีความหมายตรงตัวว่า “ทาส”)
13. เพื่อต่อต้านชื่อเรียกต่างๆ ที่ทั้งมีนัยยะดูถูก และนัยยะด้านลบของคำว่า “ชาวเขา” ที่ใช้อย่างเป็นทางการ องค์กรเพื่อชนพื้นเมืองและกลุ่มเรียกร้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ก็ได้เริ่มสนับสนุนและเผยแพร่คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ซึ่งแปลมาจาก “indigenous peoples” เมื่อกว่าสิบปีก่อน
14. รัฐบาลไทยปฏิเสธคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” โดยกล่าวว่าคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนไทยเท่าๆ กับประชาชนไทยกลุ่มอื่นๆ มีสิทธิพื้นฐาน และได้รับการปกป้องด้วยกฎหมายของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ชนพื้นเมืองในไทยก็ยังพบกับภาพเหมารวมทางประวัติศาสตร์และการเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับชนเผ่าพื้นเมืองในที่อื่นๆ ทั่วโลก
16. ประเทศไทยได้ยอมรับและให้สัตยาบันต่อหลากหลายกติกานานาชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Convention on the Elimination of Racial Discrimination (CERD)) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convention on Civil and Political Rights (ICCPR)) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม (International Convention on Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR)) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention of the Elimination of Discrimination Against Women (CEDAW)) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)) และ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity (CBD)) นอกจากนี้ประเทศไทยยังออกเสียงสนับสนุนปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง (United Nation Declaration on the Rights of Indigenous Peoples (UNDRIP)) โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอีกด้วย พันธสัญญาทางกฎหมายเหล่านี้บังคับให้รัฐบาลไทยต้องยอมรับ เคารพและปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองผ่านทางกฎหมายของประเทศ นโยบาย และแผนงานต่างๆ
17. การเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะ “ผู้ไม่มีอารยธรรม” (ซึ่งตรงข้ามกับคนไทยส่วนใหญ่ที่ “มีอารยธรรม” ในประวัติศาสตร์ และในฐานะภัยคุกคามความมั่นคงของชาติในปัจจุบัน ยังคงส่งผลต่อกฎหมาย นโยบาย และแผนงานของรัฐที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ยอมรับและปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านในปี 2007 ก็ไม่ได้ระบุชัดถึงการยอมรับตัวตนของพวกเขา แม้ว่าระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะมีตัวแทนจากชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ เข้าร่วมการประชุมหารือทั้งในระดับจังหวัดและในระดับประเทศก็ตาม
กระบวนการเตรียมรายงานเงา
18. ประเทศไทยยังไม่ได้ส่งรายงานประเทศฉบับแรกแก่คณะกรรมการซีอีอาร์ดีตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินานาชาติ (International Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination (ICERD)) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2003 โครงการศึกษาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในปี 2009 ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเงื่อนไขและรูปแบบของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในประเทศไทย ผ่านการศึกษา การปรึกษา และการเขียนรายงานเงา เพื่อเสริมรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2007 (พ.ศ. 2550) มาตรา 5 และ 30 ที่ให้หลักการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติตามหลักกฎหมายสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเนื้อหาของทั้งสองมาตรามีดังนี้ “มาตรา 5: ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน” และ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”
การบังคับใช้อนุสัญญา: มาตรา 1 – นิยามของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
24. ตั้งแต่ปี 1960 คำว่า “ชาวเขา” ได้ถูกใช้เพื่อแบ่งคนที่อยู่พื้นที่สูงออกจากคนที่อยู่ในที่ราบต่ำ และก็ได้มีมุมมองและทัศนคติแง่ลบต่อคนที่อยู่พื้นที่สูงขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเร็วๆ นี้นักวิชาการและประชากรบนที่สูงก็ได้ผลักดันแนวคิดใหม่เพื่อต้านทัศนคติแง่ลบเหล่านั้น ประชากรบนที่สูงเริ่มเรียกตัวเองว่าชนเผ่า ซึ่งเป็นคำที่แปลมาอย่างสั้นๆ จากคำว่า indigenous people และนักวิชาการบางส่วนก็เรียกชนเผ่าว่ากลุ่มชาติพันธุ์
25. ชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 296,000 คนในประเทศไทยยังคงไม่มีสัญชาติ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะเช่นสาธารณสุขพื้นฐานหรือโรงเรียน นโยบายและแผนงานที่เน้นเฉพาะ “ชาวเขา” มีขึ้นตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1950 หลังการก่อตั้งคณะกรรมการกลางชาวเขา (Central Hill Tribe Committee) รวมถึงแผนกสวัสดิการชาวเขา (Hill Tribe Welfare Division) ขึ้นมาในกระทรวงมหาดไทยภายหลัง แต่ก่อนหน้าทศวรรษที่ 1980 นั้น นโยบายของไทยที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองเกิดขึ้นเพราะความกังวลเรื่องการปลูกฝิ่นและขบถคอมมิวนิสต์เป็นหลัก
26. ภายในทศวรรษ 1980 การตัดไม้ทำลายป่าและการควบคุมทรัพยากรในพื้นที่สูงได้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ และในปี 1982 “คณะกรรมการเพื่อการแก้ปัญหาความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับชาวเขาและการเพาะปลูกพืชเสพติด” (Committee for the Solution of National Security Problems involving Hill Tribes and the Cultivation of Narcotic Crops) ก็ได้มีขึ้นเพื่อบังคับใช้และประสานงานนโยบายที่มุ่งเป้าไปยังชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่แผนโดยรวมเพื่อการพัฒนาประชากรบนที่สูง (Master Plans for Development of Highland Populations) สิ่งแวดล้อมและการควบคุมพืชเสพติด (Environment and Control of Narcotic Crops) และแผนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมแห่งชาติ (National Economic and Social Development Plans) จุดมุ่งหมายของนโยบายเหล่านี้ ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่การบูรณาการชนเผ่าพื้นเมืองเข้ากับสังคมไทยโดยให้พวกเขาปรับวิถีชีวิตเข้ามา การกำจัดการปลูกและใช้ฝิ่น การลดการเพิ่มจำนวนประชากร และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิต
มาตรา 2 – การประณามและนโยบายเพื่อกำจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
27. แม้ประเทศไทยจะพยายามพัฒนากฎหมาย การจดทะเบียน และนโยบายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในประเทศ อย่างที่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 ประเทศไทยก็ยังคงไม่มีพระราชบัญญัติ นโยบาย หรือแผนงานเฉพาะเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่นในรัฐธรรมนูญปี 2550 บทบัญญัติกฎหมายภายในเกี่ยวกับการรักษาป่าไม้นั้นได้ถูกใช้กดขี่สิทธิในที่อยู่อาศัยและเพาะปลูกของชุมชนมากมายที่อาศัยในบริเวณป่า ซึ่งเป็นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม กฎหมายที่ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่สงวนทำให้ผู้คนนับล้านกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินรัฐ อีกตัวอย่างได้แก่บทบัญญัติของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 1996 และมติคณะรัฐมนตรีของเดือนสิงหาคม 2000 ที่จำกัดการเสรีภาพในการเคลื่อนที่ของผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารผู้อพยพ
มาตรา 4 – การแพร่กระจายของความคิด/ระบบที่อิงจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
30. เมื่อประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อซีอีอาร์ดี รัฐบาลก็ได้เพิ่มการตีความลงในมาตรา 4 อนุมาตรา (a) (b) และ (c) การตีความนี้กล่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังกล่าวอีกว่ามาตรานี้มีผลต่อกฎหมายในประเทศเฉพาะที่จะผ่านหลังจากนั้นเท่านั้น การตีความดังกล่าวเป็นปัญหาต่อชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เนื่องจากมีกฎหมายเก่าที่สร้างภาพเหมารวมด้านลบแก่พวกเขาอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นพระราชบัญญัติการจัดการป่าไม้ของปี 2007 ได้นำไปสู่ภาพเหมารวมว่าชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าเขาของไทยมานับร้อยปีเป็นผู้ทำลายป่าไม้
31. ความไม่ใส่ใจในลักษณะเดียวกันปรากฎอยู่ในรายงานข่าวเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2012 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ได้พาดหัวข่าวว่า “เห็นแก่ได้! ชนกลุ่มน้อยโค่นไม้-ปลูกกัญชา รุกป่าแก่งกระจาน” และในวันที่ 7 พฤษภาคม 2012 ก็พาดหัวข่าวอีกว่า “ตะลึง ! ชนกลุ่มน้อยรุกป่าต้นน้ำเพชรบุรีหนัก ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่น” การรายงานข่าวดังกล่าวย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อ ที่ตอกย้ำมุมมองที่ว่าประชากรที่มีเอกสารครบถ้วนนั้นมีเกียรติและควรเคารพมากกว่าชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ และทำให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่าไม้และลุ่มน้ำหรือเป็นผู้ค้ายาเสพติดต่อไป
ความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมีผลกระทบต่อประชากรพื้นเมืองในประเทศไทย
38. ชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ป่าไม้ของไทยกลายเป็นแพะรับบาปของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ชนพื้นเมืองดังกล่าวได้แก่กลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่ทางเหนือของประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎให้ปรับผู้ที่สร้างความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ แต่ระบบการปรับนี้มีข้อบกพร่องทางวิทยาศาสตร์และส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชุมชนพื้นเมืองที่ต้องอาศัยการเกษตรเคลื่อนที่ในวิถีชีวิต ชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบได้แก่ชาวกะเหรี่ยงและชาวม้ง
มาตรา 5 (d) (iii) สัญชาติ
77. การไม่มีสัญชาติเป็นสาเหตุให้ชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมานาน เพราะเมื่อไม่มีความเป็นพลเมืองก็จะไม่ได้รับการรับรองสิทธิพื้นฐาน อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้พยายามสร้างนโยบายที่ให้สัญชาติแก่ประชากรพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ในปี 2005 คณะรัฐมนตรีลงมติเมื่อวันที่ 18 มกราคมในเรื่องกลยุทธการจัดการปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิของประชาชน (Strategy to Address the Problems of Status and Rights of People) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเร่งกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ นอกเหนือจากการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติปี 2008 ครั้งที่สี่ และการแก้ไขพระราชบัญญัติการลงทะเบียนพลเมืองปี 2008 ครั้งที่สอง
78. อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วจำนวนคนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยในปี 2011 ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากในปี 2005 มากนัก ข้อมูลจากสำนักทะเบียนแผนกปกครอง กระทรวงมหาดไทย ของเดือนเมษายน 2011 ได้รายงานว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติมีจำนวน 542,505 คน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยจากจำนวน 557,606 คนในปี 2005 ที่เพิ่งออกกฎหมาย นอกจากนี้ในวันที่ 7 ธันวาคม 2010 คณะรัฐมนตรีได้ถอนมติเกี่ยวกับชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม ซึ่งมติดังกล่าวได้อนุญาตให้กลุ่มคน 13 กลุ่มดังกล่าวสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว การยกเลิกมตินั้นอ้างว่าทำไปเพื่อสนับสนุนกฎหมายใหม่ แต่เนื่องจากกฎหมายใหม่ให้ผลเพียงจำกัด การยกเลิกนี้ก็ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากกลายเป็นคนไร้รัฐ
มาตรา 5 (d) (v) สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน และมาตรา 5 (d) (vi) สิทธิในการรับมรดก
83. กฎหมายในปัจจุบันให้อำนาจรัฐในการประกาศปกป้องผืนป่าได้มากขึ้นเรื่อยๆ และในปัจจุบันพื้นที่สงวนก็ครอบคลุมถึงพื้นที่ที่มีคนกว่า 10 ล้านคนอาศัยอยู่ ในช่วงระหว่างปี 2004 ถึง 2006 รัฐบาลไทยได้บังคับใช้นโยบายใหม่แห่งชาติเกี่ยวกับการป่าไม้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (New National Policy on Forestry and Natural Resource Management) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดการขนยาเสพติด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปกป้องความมั่นคงของชาติ
84. ที่สำคัญ กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ดังกล่าวและนโยบายแห่งชาติเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิในการอยู่อาศัยและทำการเกษตรของชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้กฎหมายและมติดังกล่าว พื้นที่นับล้านเฮกตาร์ได้กลายเป็นพื้นที่สงวนเพื่ออนุรักษ์ป่าและพื้นที่หวงห้าม ทุกวันนี้พื้นที่ร้อยละ 28.78 ของประเทศไทยทั้งหมดเป็นพื้นที่ปกป้อง
86. พระราชบัญญัติป่าชุมชนได้ผ่านออกมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2007 แม้จะมีการต่อต้านมากมายจากองค์กรและกลุ่มรณรงค์เพื่อประชาสังคม ร่างสุดท้ายของกฎหมายนี้แตกต่างจากข้อเสนอของกลุ่มองค์กรเพื่อประชาสังคมอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายข้อที่ในทางปฏิบัติจะริดรอนสิทธิหลายอย่างของชุมชนตามป่าหลายกลุ่ม เนื้อหาในหมวด 25 และ 34 นั้นไม่ต่างจากกฎหมายเพื่อป่าไม้ทั่วไปที่จำกัดสิทธิของผู้คนที่มีต่อป่าไม้ ผู้รณรงค์เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกล่าวว่ากฎหมายนี้จะทำให้ชุมชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถทำการป่าไม้ในชุมชนหรือจัดการทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ และขัดกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่